ก่อนหน้านี้ผมพยายามเขียนถึงความทุกข์ความโหดร้ายทั้งหมดของชีวิตเพื่อเป็นบทความที่ช่วยบรรเทาความทุกข์ ความเศร้าให้กับผู้อ่าน แต่ช่วงนี้ชีวิตผมไม่ค่อยพบกับความทุกข์และผมอาจจะถ่ายทอดเรื่องราวต่างออกมาได้ไม่ดีพอ ดังนั้นเราพักเรื่องนี้กันก่อนหันกลับมาแนวคิดที่สนุกๆ กันบ้างครับ

ในบทความนี้ค่อนข้างเป็นตัวผมจริงๆ เพราะผมชอบศึกษาอ่านหนังสือและโครงกลอนต่างๆ มากมายในสมัยก่อน และนำแนวคิดมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเองและฝึกใช้อยู่เป็นประจำ

แต่ยังมีอีกเรื่องที่ผมเสียดายเป็นอย่างมากนั้นก็คือ ผมอ่านหนังสือภาษาอังกฤษมากพอสมควรแต่ไม่สามารถจะเขียนออกมาแบบสนุกๆ หรือถ่ายทอดได้อย่างสมบูรณ์ ผมเคยลองเขียนหรือพยายามแปลให้สนุกๆ แต่ผมก็ไม่ใช่คนชอบอ่านแนวนิยายมากขนาดนั้นและคำศัพท์ก็ยังใช้ไม่ค่อยถูก ไม่รู้ว่าคำไหนที่จะบรรยายแล้วได้อารมณ์ เอาเป็นว่าผมยังคงต้องพัฒนาตัวเองต่อไปในเรื่องนี้ เพราะจริงๆ ผมก็อยากตอบแทนความรู้ที่ผมได้จากคนต่างประเทศบ้าง

เรื่องมีอยู่ว่า ผมได้เข้าไปดูแนวคิดใน Youtube เกี่ยวกับสามก๊กที่มีการสร้าง Content ต่างๆ มากมาย ซึ่งผมเองก็เคยชอบแนวนิยายเรื่องนี้และเคยสะสมไว้เป็นวีดีโอและหนังสือเอาไว้ดูประมาณปี ค.ศ 1996 แต่ปัจจุบันผมไม่มีหนังสือและแนวคิดเรื่องนี้แล้วแต่เก็บยังเก็บหนังสือบางเล่มที่เขียนถึงเรื่องนี้เอาไว้ และผมก็อยากที่บอกเล่าในมุมมองข้อคิดที่ผมศึกษาและเคยใช้พัฒนาตนเองในสมัยวัยรุ่นให้เป็นอีกแนวทางให้ไว้เพื่อศึกษาครับ จะได้ไม่ผ่านเลยไป

บทสรุปที่ผมได้จากนวนิยายเรื่องนี้คือ นวนิยายเรื่องนี้ได้บอกที่ลักษณะนิสัยของมนุษย์ในหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้รับรู้ว่าโลกมนุษย์นั้นยังมีผู้คนอีกหลากหลายชนิดที่เราไม่รู้จัก ยกตัวอย่างเช่น โจโฉ ผู้ที่สามารถทำทุกอย่างเพื่อให้ตนเองเป็นใหญ่ตามวลีที่ว่า “ข้ายอมหักหลังคนทั้งโลก แต่ไม่ยอมให้ใครหักหลังข้า” กวนอู นิสัยซื่อสัตย์เป็นอย่างมากแต่ข้อเสียก็คือยอมหักไม่ยอมงอ เล่าปี่ มีคุณธรรมรักพวกพ้องและพี่น้อง เตียวหุย ใจร้อนวู่วาม ชอบกินเหล้าเฮฮา เป็นต้น

ในสมัยนี้ สามก๊กเป็นนวนิยายที่เหมาะสมและจะเป็นแนวคิดอย่างดีถ้าเราอยากจะรู้จักผู้คนให้มากยิ่งขึ้นและผมเองก็เก็บรักษาคำสอนของขงเบ้งเอาไว้เป็นอย่างดีเพราะสมัยนั้นผมค่อนข้างชื่นชอบในตัวขงเบ้ง และพยายามทุกทางเพื่อให้ได้เป็นแบบเขา ทั้งการวางแผน การคิดที่รอบคอบรัดกุม การรู้ฟ้า รู้ดิน ทั้งภูมิศาสตร์ โหราศาสตร์ทั้งเรื่องอื่นๆ แต่จริงๆ แล้วผมเทียบเขาไม่ติดเลยแม้แต่น้อย เพราะผมสามารถวางแผนต่างๆ ให้กับตัวเองและคนรอบข้างได้เท่านั้น ไม่สามารถวางแผนเพื่อคุมกองทัพที่ยิ่งใหญ่หรือทำลายศัตรูได้เหมือนสมัยยุคนั้นเลย

แต่ไม่ว่าผมจะดู Youtube มากขนาดไหนในโลกอินเตอร์เน็ตก็ยังไม่มีคำสอนของขงเบ้งปรากฏให้เห็นเลย และบทความนี้จะเป็นคำสอนขงเบ้งที่เขียนไว้สอนบุตรหลาน ดังนี้

“โอวาทสอนบุตร” (ขงเบ้ง)

อันวัตรแห่งวิญญูชนนั้น พึงให้ความสงบในการบำเพ็ญตน ใช้ความประหยัดในการเสริมคุณธรรมด้วย หากมิสมถะก็จะมิอาจแจ้งในปณิธาน หากมิสงบก็จะมิอาจตรองการณ์ไกล ดังนั้นในด้านการศึกษาพึงมีความสงบ ในด้านความสามารถพึงมีการศึกษา หากมิศึกษาก็จะมิเพียบพร้อมซึ่งความสามารถ หากไร้ปณิธานก็จะมิอาจสำเร็จในการศึกษา หากเลื่อนลอยก็จะไร้ความวิริยะ และหากรุ่มร้อนก็จะมิอาจขัดเกลาจิต

ด้วยอายุจะหมดไปตามกาล ส่วนจิตใจจะร่อยหรอไปตามวาร สุดท้ายก็จะมีแต่ความเหี่ยวเฉา มิอาจตามทันยุคสมัยจนไร้ค่าและต้องมาเฝ้ากระท่อมโทรมระทมใจ ถึงเพลานั้นก็คงสายเกินไปแล้วแล

“ว่าด้วยข้อคิดในการประกอบการคิดพิจารณา” ตรงส่วนนี้ผมใช้วางแผนชีวิตได้เป็นอย่างดีครับ

อันการพิจารณานั้น ก็คือการสังเกตุดูสรรพสิ่งทั้งหลาย เพื่อให้ได้เข้าใจในความหมายที่เร้นอยู่

ภายนอกได้รับผลกระทบภายในก็จักโดดเดี่ยว ฝ่ายบนมีความฉงน ฝ่ายล่างก็จักสับสน เมื่อเกิดความสับสนก็จะมิยอมใช้งานคนดีที่ซื่อสัตย์ เมื่อเกิดความฉงน การมองก็จะเกิดความผิดพลาด หากผิดพลาดก็จะทำให้แผนการวุ่นวาย เมื่อแผนการวุ่นวาย ชาติก็จะอันตราย เมื่อชาติอันตรายก็จะไม่สงบ ดังนั้น ผู้คิดจักต้องตรองการณ์ไกล ผู้ตรองการณ์ไกลจักมีความสงบ ส่วนผู้ที่ไม่ตรองการณ์ไกลจักได้รับอันตราย

ผู้มั่งคั่งมักจะได้ใจ ส่วนผู้ยากจนมักจะเป็นผู้ที่ปล่อยโอกาสให้ผ่านไปอย่างน่าเสียดาย หากยิ่งยึดติดก็จะยิ่งเสียหาย หากยิ่งสะสมก็จะยิ่งอันตราย หากทุ่มทรัพย์ทั้งหมดเพื่อซื้อมาเก็บไว้ ก็จะเกินความสามารถในการดูแล มีเรื่องรุมสุมมากก็จะทำให้เกิดความกลุ้ม การมีเรื่องกลุ้มเพราะเกิดจากความหย่อนยาน

เรือรั่วน้ำก็จะซึม กระเป๋ารั่วของจะหาย ภูเขาเล็กก็จะไร้สัตว์อาศัย น้ำตื้นก็จะไร้ปูปลา ต้นไม้เล็กไร้นกทำรัง กำแพงชำรุดบ้างก็จะเอียง เขื่อนพังน้ำก็จะทะลัก เดินเร็วก็จะหกล้ม เดินเฉื่อยก็จะถึงช้า อยู่กลางอันตรายจะมิอาจคงทน ย่ำบนน้ำแข็งบางก็จะวิตกกังวล เดินลงน้ำก็จะจม เห็นห้วงมหรรณพึงหาเรือข้าม แต่หากไร้พายก็เปล่าประโยชน์ ขาดมิตรก็จะเอกา ผู้ดูแลเรื่องบำเหน็จอาญาจะต้องรู้พิจารณาผลงาน ผู้ขาดความซื้อสัตย์จะไร้สัจจะ ไร้ริมฝีปากฟันก็จะเปลือย ขนร่วงโล้นหนังก็จะหนาว ผู้มีความลำเอียงคำพูดจะไร้ความน่าเชื่อถือ ผู้ที่ฟังโดยไร้วิจารณญาณ ก็จักก่อเหตุเภทภัย ผู้ที่วางแผนรอบคอบจักได้รับชัยชนะ ผู้ที่วางแผนฉาบฉวยก็จักปราชัย

ใช้ความดีตักเตือนคนชั่ว ก็จะดุจฝนตกชุ่มฉ่ำในวสันตฤดู

ม้าดีจะง่ายในการบังคับขี่ ส่วนม้าเลวจะยากในการฝึกฝน

ผู้ที่มองโดยไม่พิจารณาก็จะประหนึ่งคนตาบอด ผู้ที่ฟังโดยไม่ใคร่ครวญก็ประหนึ่งคนหูหนวก

รากเสียหายใบจักเฉา ใบเฉาดอกก็จะโรย ดอกโรยก็จะไร้ผล

เครดิตผู้เขียน ศ ศิลาแลง

อ่านดูแล้วค่อนข้างยากใช่ไหมครับ ตอนผมอ่านใหม่ๆ ผมยังงงเลยเพราะไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน แต่ผมเรียบเรียงเอาไว้เรียบร้อยแล้วก่อนหน้านี้ จริงๆ แล้วขงเบ้งบำเพ็ญตนอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยปล่อยให้ตัวเองสบายเลยเพราะความสบายจะทำให้เขาเลื่อนรอยและไร้ปณิธาน

ขงเบ้งเริ่มจากความสงบในตนเอง เมื่อมีความสงบก็สามารถสร้างปณิธานได้ เมื่อสร้างปริธานได้ก็จะใช้ความสงบในการศึกษาเพื่อเดินไปให้ถึงปณิธานที่สร้างไว้

แต่ก่อนจะไปถึงความสงบในตัวเองได้นั้นต้องรู้จักบำเพ็ญตน

การบำเพ็ญตนคือ การประหยัด (​การประหยัดในที่นี้ไม่ใช่การเรื่องการใช้เงิน แต่เป็นการห้ามใจในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ อดทนต่อกิเลสของตัวเองหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สมถะ )

เห็นไหมครับว่าจริงๆ แล้วชีวิตขงเบ้งไม่ได้มีความสุขเลย ถึงเป็นคนเก่งมีชื่อเสียง ผู้คนเกรงกลัวเพราะบุกไปที่ไหนก็สามารถสร้างความเสียหายให้ศัตรูได้มากมาย แต่ในความเป็นจริงคำสอนที่ออกจากปากขงเบ้งทำให้เรารับรู้ว่า เขาต้องฝึกตน บำเพ็ญตนมากแค่ไหนกว่าจะมาถึงจุดนี้

ถ้าใครเคยอ่านสามก๊กหรือดูภาพยนต์จะรู้ว่าขงเบ้งมีศัตรูมากมาย แต่ศัตรูที่ขงเบ้งแพ้ทางมากที่สุดยังไม่ปรากฏในโลกอินเตอร์เน็ตยุคปัจจุบันนี้ 2023 ผมเกริ่นนำไว้ก่อนว่าไม่ใช่สุมาอี้แน่นอนครับ แต่ผมจะเฉลยในบทความต่อๆ ไปถ้ามีเวลาครับ

By

error: Content is protected !!