เครดิต คุณ Onnie 🦋

พอดีผมอ่านแล้วชอบเลยนำมาแชร์ไว้ในเว็บเพจตนเองครับ


หลวงพ่อชา สุภัททโท

” ฝึกทรมานกิเลสตัวเอง “

ครั้งหนึ่งหลวงพ่อชา สุภัททโท
วัดหนองป่าพง สอนว่า

“ถ้ามันคิดอะไรยุ่งขึ้นมาก็ให้เข้าใจว่า ความที่ไม่ยุ่งก็อยู่ตรงนั้นแหละ มันสกปรกตรงนี้ ที่สะอาดก็อยู่ตรงนี้ ไม่ใช่ที่อื่น ล้างสกปรกออกก็จะสะอาดเท่านั้นเอง

ธรรมของพระพุทธเจ้าของเรามันตรงอยู่อย่างนั้น อนิจจัง เป็นของไม่เที่ยงแท้ บทเดียวเท่านั้นแหละ เห็นพระพุทธเจ้าแล้ว ใครเห็นอนิจจังอย่างแท้จริงก็เห็นพระพุทธเจ้า ให้นั่งใกล้ ๆ ท่านทุกทีๆ เดี๋ยวก็เจอท่านหรอก”

แต่โดยปกติปุถุชนเราจะไม่ชอบดูความทุกข์ ไม่ยอมพิจารณา รู้สึกแต่ว่าตัวเองเป็นทุกข์ แต่ไม่พยายามทำความรู้จักทุกข์ จะใช้วิธีหนีหรือกลบกลื่อนความทุกข์เสียมากกว่า

การหนีหรือกลบเกลื่อนความทุกข์สำหรับชีวิตฆราวาสก็ทำได้หลายวิธี ตั้งแต่วิธีหยาบไปถึงละเอียด แต่สำหรับชีวิตนักบวชวิธีการหนีทุกข์มีไม่มากนัก โดยปกติก็ไม่พ้นเรื่องอาหาร การพูดคุยและการนอนหลับ


วิธีฝึกเพื่อขัดเกลากิเลสที่หลวงพ่อใช้เป็นประจำวิธีหนึ่งก็คือ การทรมาน การทรมานในความหมายของพระวัดป่า หมายถึงการที่ครูบาอาจารย์วางข้อวัตรปฏิบัติให้ขัดกับความอยากของลูกศิษย์

เช่น ให้อยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบ ให้พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบ หรือไม่ให้สิ่งที่อยากได้ เป็นต้น เป็นวิธีตรงไปตรงมาที่เปิดเผยกิเลสของลูกศิษย์ ให้เจ้าตัวเผชิญหน้ากับความทุกข์ และให้เห็นประจักษ์ว่า

ความทุกข์นั้นเกิดจากความอยากและความยึดติดของตัวเอง นอกจากนั้นก็เป็นการฝึกให้ลูกศิษย์มีความอดทน ทำสิ่งที่ไม่เคยทำหรือคิดว่าจะทำไม่ได้ ให้อยู่ด้วยความอยาก จนกระทั่งหมดอยากและจิตยอม

เห็นตัณหาความอยาก ตามหลักไตรลักษณ์ ถ้าเอาชนะได้ครั้งเดียว ก็จะไม่เชื่อกิเลสอีกเหมือนแต่ก่อน เป็นการดัดนิสัยเก่า การทรมานนี้ก็เพื่อให้พระไม่ประมาท มีความระวังตัวอยู่ตลอดเวลา

ครั้งหนึ่งมีชาวต่างประเทศคนหนึ่งเดินแบกเป้เข้ามา แล้วเข้ามากราบหลวงพ่อชาเพื่อขออนุญาตพักในวัด หลวงพ่อชาสั่งให้ท่านชยสาโรเป็นล่ามให้ แล้วถามเขาว่า อยากมาพักที่วัดหนองป่าพงเพื่ออะไร ต้องการอะไร

เขาบอกว่า เขาสนใจเรื่องการภาวนา หลวงพ่อหน้าดุ พูดว่า ที่วัดนี้ไม่มีการสอนภาวนา มีแต่การทรมาน

โยมฝรั่งคนนี้น่าชม ฟังคำหลวงพ่อถึงจะสะดุ้งนิด ๆ ก็ไม่ถอย เรียกว่าสอบเอ็นทรานซ์เข้าวัดป่าพงได้

คำว่า ทรมาน ฟังแล้วน่ากลัวนะ แต่ความหมายในทางพระพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องโหด ไม่เกี่ยวกับความทารุนแต่อย่างใด หากหมายถึงแนวทางฝึกคนให้เห็นโทษของกิเลส โดยเฉพาะตัณหา ด้วยการไม่ให้ทำตามใจ เหตุผลคือ เราจะพ้นทุกข์ได้ก็ด้วยการละกิเลส จะละกิเลสได้ก็เพราะรู้เท่าทันมัน จะรู้เท่าทันกิเลสได้ เพราะไม่หลงวิ่งตามมัน จะอดวิ่งตามมันได้เพราะกล้าฝืนกระแส

การเห็นชัดว่า ตัณหาทำให้จิตใจเศร้าหมอง และการหัดปล่อยวางตัณหา ทำให้จิตใจปลอดโปร่งผ่องใสถือว่าเป็นการก้าวหน้าในธรรมที่สำคัญ

By

error: Content is protected !!